bloggang.com mainmenu search
Trendy Review : Canon EOS1200D กล้อง DSLR ระดับแรกเข้า


ผละจากกล้องสมาร์ทโฟน เข้าหากล้องดิจิตอลซักหน่อย สัปดาห์นี้ขอแนะนำ กล้อง Canon EOS1200D น้องน้อยตระกูล EOS ของ Canon ระดับ Entry level สำหรับผู้ที่สนใจจะก้าวเข้ามาสู่เส้นทางการถ่ายรูปแบบมืออาชีพ ที่อยากได้ของดีราคาสบายๆ...

นานๆ จะมีโอกาสได้รีวิวกล้องดิจิตอลกับเขาบ้างครับ โดยความสามารถส่วนตัว ผมไม่ใช่คนที่จะรีวิวกล้องดิจิตอลระดับโปรได้อย่างเต็มอรรถรส สะใจคนที่เป็นตากล้องจริงจังแน่นอน แต่สำหรับกล้อง Canon EOS1200D นี้น่าจะเป็นข้อยกเว้น เพราะมันคือกล้อง DSLR (Digital Single-Lens Reflex) ระดับ Entry level สำหรับผู้ที่สนใจจะก้าวเข้ามาสู่เส้นทางการถ่ายรูปแบบมืออาชีพ แต่ยังมีงบประมาณที่ค่อนข้างจำกัด ฉะนั้นในการรีวิวครั้งนี้ ผมจะมารีวิวภายใต้ธงว่า หากเป็นผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนถ่ายรูป แล้วเกิดอยากจะก้าวข้ามไปอีกระดับ Canon EOS1200D นี่จะตอบโจทย์มากน้อยแค่ไหน

โดยส่วนตัว ผมเองก็เคยตั้งใจว่าจะเข้าสู่เส้นทางของการถ่ายรูปแบบจริงจัง เลยมี Canon EOS1000D ซึ่งถือว่าเป็นยุคแรกของตระกูล Entry Level ของ Canon ในซีรีส์นี้ครับ ดังนั้น เมื่อได้ลองจับ Canon EOS1200D นี่ เลยสามารถพอที่จะเปรียบเทียบอะไรต่อมิอะไรได้บ้าง และได้เห็นความแตกต่างทั้งในด้านของฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ชัดเจนอยู่


Canon EOS1200D

 

รูปร่างหน้าตาของ Canon EOS1200D

สไตล์ของการออกแบบกล้อง Canon EOS1200D ก็ยังคงเป็นแนวของ Canon อยู่ ดูแล้วรู้ได้ว่านี่คือกล้องตระกูล EOS ของ Canon เขาครับ ด้านหน้านี่ Grip ก็ออกแบบมาให้จับได้สะดวกดีอยู่ ตำแหน่งการวางปุ่มชัตเตอร์ก็ใช้งานได้สะดวก และแน่นอนย่อมใช้ร่วมกับเลนส์ของ Canon ได้ (แหงล่ะ)

 

Canon EOS1200D ด้านหน้า ยังไม่ใส่เลนส์

 

ด้านหลังของ Canon EOS1200D จะเป็นหน้าจอแสดงผลขนาด 3 นิ้ว ความละเอียด 460,000 พิกเซล มีมุมมองกว้าง 170 องศา กับ View finder สำหรับมองภาพ พร้อมปุ่มสำหรับใช้งานต่างๆ มากมาย ซึ่งนี่เป็นสิ่งนึงที่ผู้ใช้งานจะต้องเรียนรู้เมื่อมาใช้กล้อง DSLR ครับ หลักๆ ก็มีปุ่มเลือกปรับ Exposure, ปุ่มสลับระหว่าง View finder และจอ LCD, ปุ่ม DISP สำหรับแสดงข้อมูลบนจอ LCD, ปุ่ม Q สำหรับเข้าสู่เมนูปรับตั้งค่าของโหมดถ่ายภาพ, ปุ่ม Menu สำหรับเข้าเมนูหลักของกล้อง, ปุ่มควบคุม 4 ทิศทาง พร้อมปุ่ม SET สำหรับการปรับตั้งค่าจำพวก ISO, AF, WB และปุ่มเข้าสู่โหมดชมภาพที่ถ่าย, ปุ่มซูมภาพเข้าออกเวลาอยู่ในโหมดชมภาพถ่าย กับไฟ LED สำหรับแสดงสถานะของกล้อง

 

Canon EOS1200D ด้านหลัง

 

ด้านบนของ Canon EOS1200D ก็มี Contact สำหรับต่อกับ Flash ที่เป็นอุปกรณ์เสริม, ตัวสวิตช์หมุนสำหรับเปิดปิดกล้อง และปรับโหมดถ่ายภาพ, ปุ่มเปิดใช้แฟลช, ปุ่มชัตเตอร์ และ Jog dial สำหรับใช้ในการเลือกเมื่ออยู่ในหน้าจอการตั้งค่า หรือ การชมภาพถ่าย … มีช่องสำหรับร้อยสาย Strap เพื่อคล้องคอ

 

Canon EOS1200D ด้านบน

 

ด้านล่างของตัวเครื่อง ก็มีช่องสำหรับต่อกับขาตั้งกล้อง ตามมาตรฐานของกล้องดิจิตอลทั่วๆ ไป เปิดฝาออกมาก็เป็นแบตเตอรี่กล้อง และช่องใส่ SD card ครับ

 

Canon EOS1200D ด้านล่าง

 

เปิดฝาปิดด้านข้าง ก็จะเห็นพอร์ตต่างๆ ของตัวเครื่อง ทั้ง Mini HDMI เอาไว้ต่อกับจอแสดงผลภายนอก เพื่อดูภาพถ่ายและวิดีโอที่ถ่ายมา, มีพอร์ต Mini USB เอาไว้เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ แล้วก็มีช่องเสียบสำหรับต่อกับรีโมตคอนโทรลครับ

 

พอร์ตต่างๆ ของ Canon EOS1200D

 

และเช่นเคย Canon EOS1200D ก็มาพร้อมกับเลนส์คิต EF-S 18-55mm F3.5-5.6 IS II ตามมาตรฐานครับ (โดยส่วนตัว มีเลนส์ตัวนี้อยู่แล้วกับ EOS1000D ถ้า Canon ให้เลนส์อื่นมาลอง น่าจะดีกว่านี้จริง แต่ว่ามันอยู่นอกเหนือจากชุด Demo unit น่ะครับ) … ไม่เป็นไร ผมมี 50mm F1.8 อยู่กับตัว ไว้มีโอกาสจะเอาไปลองถ่ายทดสอบดู

 

Lens kit 18-55mm F3.5-5.6 ที่มาพร้อมกับ Canon EOS1200D

 

ขนาดของตัวกล้องและน้ำหนักของ Canon EOS1200D นั้นเทียบกับ EOS1000D แล้ว ในภาพรวมมีขนาดใหญ่กว่านิดหน่อย และมีน้ำหนักมากกว่าเล็กน้อย แต่เวลาลองสัมผัสจริงๆ มันแปลกใจว่า ทำไมรู้สึกว่าเบากว่านิดหน่อยก็ไม่รู้สิ … เรื่องนึงที่ผู้ที่ใช้สมาร์ทโฟนอยู่แล้วคิดจะมาเล่น DSLR ก็คือ แม้ว่า Canon EOS1200D นั้นจะถือว่าเบาสำหรับการเป็น DSLR แต่เมื่อเทียบกับการพกสมาร์ทโฟนแล้ว มันคือน้ำหนักที่มากกว่าแบบก้าวกระโดดเลยเหมือนกันนะเออ

การใช้งาน Canon EOS1200D สำหรับมือใหม่

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นสำหรับมือสมัครเล่นที่เน้นถ่ายรูปด้วยสมาร์ทโฟน หรือกล้องดิจิตอลจำพวก Point & Shoot (หมายถึง พวก Compact digital camera) ที่เน้นความง่ายในการใช้งาน แค่เล็งแล้วก็กดชัตเตอร์ถ่ายได้เลย ที่เหลือซอฟต์แวร์ทำออโต้ให้หมด เมื่อมาหัดใช้ DSLR ก็คือ ความเป็นออโต้มันหดหายไปเยอะครับ เราต้องปรับแต่งเองอยู่หลายจุดทีเดียว

 

User Interface ของ Canon EOS1200D

 

ความเป็นออโต้ของพวกกล้องแบบ Compact หรือ สมาร์ทโฟนมันหายไป กลายเป็นกึ่งออโต้แทน นั่นคือ ก่อนอื่น เราต้องเลือกโหมดถ่ายภาพให้เหมาะสมก่อน ซึ่งจะประกอบไปด้วย โหมดถ่ายภาพแบบเน้นค่าบางอย่าง เช่น
• โหมด M จะเน้นที่การให้เรากำหนดค่าความเร็วชัตเตอร์ และ รูรับแสง (ค่า F) เข้าไป
• โหมด Av จะเน้นที่การกำหนดค่ารูรับแสงเป็นหลัก แล้วมันจะคำนวณความเร็วชัตเตอร์ให้ว่าควรจะเป็นเท่าไหร่ เอาไว้สำหรับให้ชัวร์ว่าจะได้รูปที่มี Depth of Field ที่ต้องการ
• โหมด Tv จะเน้นที่การกำหนดค่าความเร็วชัตเตอร์เป็นหลัก เพื่อให้ชัวร์ว่าถ่ายภาพวัตถุที่เคลื่อนไหวได้ชัวร์
และก็จะมีพวกโหมดถ่ายภาพเฉพาะสถานการณ์อีก เช่น ภาพบุคคล, ภาพวิว, ภาพมาโคร, ภาพกีฬา, ภาพกลางคืน ซึ่งก็จะเป็นการปรับตั้งค่าให้เหมาะสมกับสถานการณ์ต่างๆ

 

ตัวเลือกโหมดถ่ายภาพแบบต่างๆ ของ Canon EOS1200D

 

 

โหมดถ่ายภาพแบบโปรแต่ละโหมด จะเลือกปรับค่าบางอย่างได้ ส่วนค่าอื่นๆ จะถูกปรับตามค่าหลักที่เราปรับ

 

Canon ออกแบบ User Interface ให้มีคำอธิบายคุณสมบัติของโหมดถ่ายภาพแต่ละแบบเอาไว้ ฉะนั้นมือใหม่ก็ยังพอเข้าใจได้ว่าแต่ละโหมดนั้นเอาไว้ทำอะไรบ้าง … นอกจากนี้ เพื่อสู้กับกระแสการถ่ายภาพด้วยสมาร์ทโฟน ทาง Canon ก็เพิ่มฟีเจอร์ Creative Auto (CA) เข้ามา เพื่อให้ถ่ายภาพมีลูกเล่นหน้าชัดหลังเบลอได้ง่ายขึ้น

 

User Interface เพื่ออธิบายว่าแต่ละโหมดเอาไว้ทำอะไร

 

 

การตั้งค่าเบลอฉากหลังในโหมด CA ของ Canon EOS1200D

 

จากการที่ได้สวมวิญญาณมือใหม่หัดใช้ DSLR ไปลองถ่ายรูปดู แล้วเปรียบเทียบความรู้สึกของการใช้ DSLR เทียบกับสมาร์ทโฟนแล้ว ผมพบว่าแบบนี้ครับ
• เทียบรูปถ่ายที่ความละเอียดเท่ากันแล้ว ภาพที่ได้จากกล้อง DSLR นั้นให้คุณภาพของภาพถ่ายที่ดีกว่า อันนี้ชัดเจนว่ามาจากอานิสงส์ของขนาดเซ็นเซอร์ที่ใหญ่กว่า เลนส์กล้องที่ทั้งใหญ่และคุณภาพดีกว่า
• ความสะดวกในการใช้งาน พวกสมาร์ทโฟนสะดวกกว่ามาก การถ่ายภาพแบบ ปุบปับต้องถ่าย สามารถทำได้ดีกว่ากล้อง DSLR มาก และสมาร์ทโฟนหลายๆ รุ่นนั้น ภาพที่ปรากฏบนหน้าจอแทบจะเป็นภาพที่เราจะถ่ายได้เลย เรียกว่าเป็น What You See Is What You Get (WYSIWYG) ในขณะที่ DSLR นั้น ภาพที่ปรากฏบน View finder นั้น อาจจะไม่ใช่ภาพที่เราได้เสมอไป ผมเผลอบ่อยมาก เห็นภาพค่อนข้างสว่างบน View finder แต่พอถ่ายออกมาจริงภาพออกมามืด เพราะตั้งค่าวัดแสงไม่เหมาะสม หรือ ชดเชยแสงไม่เหมาะสม … การถ่ายภาพด้วย DSLR นั้น สำหรับมือใหม่ มุมนึงๆ อาจต้องถ่ายหลายหน ต้องลองวัดแสงแตกต่างกันออกไป ชดเชยแสงหลายๆ แบบ อะไรแบบนี้เป็นต้น
• กล้องของพวกสมาร์ทโฟน มักมีการปรับแต่งเพื่อให้ภาพออกมาดูดีโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว แต่หากเราปรับค่าของกล้อง DSLR ได้เหมาะสม ภาพที่ได้จะมีคุณภาพดีกว่า และสวยกว่า ภาพจากสมาร์ทโฟนมากทีเดียว ถ้าจะให้เปรียบเทียบ กล้องของสมาร์ทโฟนมันเหมือนพวก EQ แบบ Preset มาของ Media player สามารถใช้ได้หลากหลายสถานการณ์ โดยได้คุณภาพที่ดีพอสมควร แต่กล้อง DSLR มันอารมณ์ EQ แบบปรับเอง ต้องปรับกันแบบเพลงต่อเพลง แต่มันทำให้สามารถดึงศักยภาพของเพลงนั้นๆ มาได้เต็มที่กว่า
• DSLR ยังคงได้เปรียบในเรื่องของการถ่ายภาพแบบ RAW ครับ (หมายถึงภาพที่ไม่ได้ผ่านการตกแต่งหรือบีบอัดใดๆ เป็นภาพที่เหมาะสำหรับการนำไปตกแต่งด้วยโปรแกรมตกแต่งภาพอีกที) แต่ในอนาคตความได้เปรียบอาจลดลง เพราะกล้องสมาร์ทโฟนก็มีความสามารถในการถ่ายภาพแบบ RAW กันบ้างแล้ว … ข้อจำกัดอีกอย่างคือ ไฟล์ภาพแบบ RAW นั้น ตัวเปิดไฟล์ต้องรองรับด้วยนะครับ

คุณภาพของภาพถ่ายจาก Canon EOS1200D

อย่างที่ผมบอกนะครับ เรื่องคุณภาพของภาพถ่ายที่ได้จากกล้อง DSLR นั้น เมื่อเทียบกับพวกสมาร์ทโฟนทั่วๆ ไปแล้ว มันดีกว่ากันเยอะ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ภาพถ่ายจะออกมาดูสวยหรือไม่สวย การถ่ายด้วย DSLR มันมีปัจจัยมากกว่าแค่สภาพแสงเอื้ออำนวยไหม องค์ประกอบของภาพดีแค่ไหน เพราะการปรับแต่งค่าต่างๆ ก็ส่งผลสำคัญมากๆ ด้วยครับ

 

ภาพถ่ายด้วยแสงปกติ ไม่มีการปรับค่า

 

อย่างกรณีของภาพถ่ายพระพุทธรูปด้านบนนี่ ภายใต้การตั้งค่าอย่างการชดเชยแสง การปรับแต่งความอิ่มของสีสัน และอื่นๆ แม้สภาพแวดล้อมจะเหมือนกัน แต่ภาพถ่ายที่ได้ ก็จะเป็นคนละเรื่องกันเลยทีเดียว อย่างรูปบนเนี่ย ตั้งออโต้เอาไว้ มันเลยพยายามปรับสี ปรับแสงให้ดูสมจริงที่สุด ตาเรามองเห็นยังไง ก็จะออกมาประมาณนั้น แต่รูปด้านล่างนี่ ผมเลือกเร่งสีและ Contrast ให้มากหน่อย มันเลยดูขลังขึ้นดี

 

ภาพถ่ายที่ถูกชดเชยแสง พร้อม เร่งสี และ Contrast

 

แม้ว่าสมาร์ทโฟนจะมีคนทำพวกเลนส์เสริมมาขายกัน แต่พวกนั้นมันออกแนว เลนส์เด็กเล่นซะมากครับ ไม่อาจเทียบได้กับเรื่องการเปลี่ยนเลนส์ของกล้อง DSLR เลย ชนิดของเลนส์ที่แตกต่างกันไป ก็สามารถถ่ายภาพได้แตกต่างกันออกไปเช่นกัน อย่างเช่นเลนส์ 50mm F1.8 เนี่ย มันช่วยให้ถ่ายภาพแนว หน้าชัดหลังเบลอ ได้สะดวกมากๆ (เพราะรูรับแสงกว้าง) เหมาะกับการถ่ายภาพแบบ Closed up แบบนี้ หรือไม่ก็ภาพถ่ายบุคคลแบบที่เน้นให้หลังมันละลาย

 

ถ่ายด้วย Canon EOS1200D + เลนส์ 50mm F1.8

 

ตัวกล้อง Canon EOS1200D นั้น เซ็นเซอร์ภาพความละเอียดสูง 18 ล้านพิกเซล เรียกว่าเหนือกว่าสมาร์ทโฟนทั่วๆ ไปอยู่แล้ว แต่ผมเลือกที่จะถ่ายรูปแค่ระดับ 8 ล้านพิกเซลนะครับ แต่นั่นก็มากเพียงพอที่จะให้เห็นความแตกต่างระหว่างการใช้กล้องสมาร์ทโฟน กับกล้อง DSLR แล้วล่ะ … เอ้า! ลองดูรูปอื่นๆ ที่ผมถ่ายมาดูครับ ทั้งหมดนี่ ถ่ายด้วย Canon EOS1200D กับเลนส์คิต 18-55mm F3.5-5.6 ที่เขาให้มานั่นแหละครับ

 



กล้องของสมาร์ทโฟนเดี๋ยวนี้ พวกไฮเอนด์จะมีเลนส์ Fixed F2.0 หรืออย่างมาก F2.2 กันแล้ว คุณภาพของภาพถ่าย รวมถึงการถ่ายภาพแบบระยะใกล้เพื่อให้เป็นหน้าชัดหลังเบลอมันทำได้ดีขึ้น แต่พอมาเทียบกับ DSLR เข้าจริงๆ ขนาดแค่เลนส์ 18-55mm F3.5-5.6 นี่ ผมก็ว่าคุณภาพของภาพถ่ายมันยังห่างชั้นกันอยู่นะครับ DSLR มีศักยภาพในการถ่ายภาพให้ได้ออกมาสวยได้เยอะกว่า แต่ข้อจำกัดคือ เราต้องปรับตั้งค่าต่างๆ พอเป็นอยู่บ้าง และรู้พื้นฐานการใช้กล้อง

 

 

หนังสือคู่มือการใช้กล้อง Canon ที่ผมได้มาจาก Canon

 

หากคิดจะใช้กล้อง DSLR แม้จะแค่ระดับ Entry level อย่าง Canon EOS1200D ก็ตามที ผมก็อยากแนะนำให้หาพวกหนังสือสอนวิธีการใช้มาอ่านนะครับ ไม่ต้องไปหาซื้ออะไรหนาๆ ก็ได้ ลองถามผู้ขายนั่นแหละ คู่มือใช้กล้องของ Canon เองมีไหม ผมสังเกตว่า 2 เล่มที่ทาง Canon ให้มานั้น ไม่หนามาก เนื้อหาไม่ยัดๆ อัดเข้ามาจนเกินไป และอ่านเข้าใจได้ไม่ยากจริงๆ … อ้อ! พอดีเล่มสำหรับ EOS1200D มันยังแปลไม่เสร็จ เขาเลยให้ของ EOS100D มาก่อนน่ะครับ แต่พวกพื้นฐานหลายๆ อย่าง หรือเทคนิคจากโปรกล้องที่มีในเล่ม ก็นำมาประยุกต์ใช้กับ EOS1200D ได้ครับ

การถ่ายวิดีโอด้วย Canon EOS1200D

เดี๋ยวนี้กล้องจำพวก DSLR ก็ทยอยเพิ่มความสามารถในการถ่ายวิดีโอเข้ามากันแล้ว แม้กระทั่ง Entry level อย่าง Canon EOS1200D ซึ่งสามารถถ่ายวิดีโอ 1080p ได้สูงสุดครั้งละ 29 นาที 59 วินาที (ตามสเปกจาก Canon) หรือพูดง่ายๆ ก็ราวๆ 30 นาทีนั่นแหละครับ โดยขนาดไฟล์ใหญ่สุดของวิดีโอคือ 4GB

 

User Interface ของ Canon EOS1200D ตอนถ่ายวิดีโอ

 

ด้วยคุณภาพของวิดีโอที่ถ่ายได้ ก็ต้องยอมรับว่าฮาร์ดแวร์ของ DSLR นั้นมีศักยภาพมากกว่า แต่ก็อีกเช่นเคยครับ ต้องหัดใช้ให้คล่องครับ อันดับแรกเลย ปุ่มชัตเตอร์กล้องมันไม่ใช่ปุ่มเริ่มถ่ายวิดีโอ เพราะเขาเก็บเอาไว้สำหรับกรณีที่เราอยากถ่ายภาพนิ่งในระหว่างถ่ายวิดีโออยู่น่ะ ตอนเข้าโหมดถ่ายวิดีโอ มันจะไม่ให้ใช้ View finder แล้ว แต่จะให้ดูผ่านจอ LCD แทน และปุ่มสลับภาพระหว่าง View finder กับจอ LCD นั่นแหละ จะเป็นปุ่มถ่ายวิดีโอ (ตรงปุ่มจะมีแต้มสีแดงๆ อยู่ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการถ่ายวิดีโอนั่นแหละ)
เท่าที่ลองใช้งานดู กล้องจะทำการปรับชดเชยแสงให้อัตโนมัติ แต่การจะปรับโฟกัส ต้องเลือกโหมดให้ถูกครับ มีให้เลือก 3 โหมด คือ
• FlexiZone Single เลือกโฟกัสตามจุดที่เลือก อันนี้เราจะกำหนดจุดโฟกัสในตอนแรก แล้วมันจะล็อกโฟกัสเอาไว้ตั้งแต่ต้นจนจบ แต่เราสามารถเลือกปรับโฟกัสได้ทีหลัง โดยเปลี่ยนตรงเลนส์ครับ ปรับให้มาเป็น MF (Manual Focus) แล้วเลือกปรับโฟกัสได้
• โหมดมองสด จะเลือกโฟกัสเอาไว้ใบหน้าที่กล้องตรวจจับได้ เหมาะกับการใช้ถ่ายวิดีโอบุคคล
• AFQuick โหมดทันใจ กล้องจะทำการปรับโฟกัสแบบออโต้ครับ
แต่ความเห็นส่วนตัว ไหนๆ ก็อุตส่าห์ให้กล้อง DSLR ถ่ายวิดีโอแล้ว เลือกใช้ FlexiZone Single แล้วปรับเลนส์เป็น MF จากนั้นเลือกปรับโฟกัสด้วยตนเอง ใช้ให้คล่องๆ มันเจ๋งมากๆ ทีเดียว

บทสรุปการรีวิว Canon EOS1200D

มาถึงจุดนี้แล้ว กล้อง DSLR แม้จะเป็นระดับ Entry level ก็สามารถทำอะไรได้มากขึ้นแล้ว ซึ่งตอนแรกผมมองว่ามันเป็นการออกฟีเจอร์มาเพื่อสู้กับพวกสมาร์ทโฟน ที่นับวันๆ ก็พัฒนาด้านการถ่ายรูปไปไม่น้อย แต่ตอนนี้ผมมองว่า มันเหมือนเป็นการพัฒนาฟีเจอร์มาเพื่อรองรับกลุ่มผู้ใช้งานที่ต้องการเลเวลอัพ ไปจริงจังกับการถ่ายภาพและถ่ายวิดีโอมากขึ้น … มันเหมือนกับตัวเลือกสำหรับคนที่อยากลองดูก่อน ว่าจะไปดีไม่ไปดี ไม่ต้องจ่ายเงินอะไรมากมาย ถ้าลองแล้วติดใจ ค่อยทุ่มงบกับ DSLR ที่โปรมากกว่านี้

อย่างไรก็ดี ด้วยสนนราคาระดับ 20,900 บาท แต่หากไปหาดูตามร้านกล้องต่างๆ อาจจะได้ถูกกว่านี้อีกหน่อย ซัก 18,900 บาทละมั้ง​ ซึ่งมันอาจจะทำให้เกิดความลังเลได้ว่า จะยอมเพิ่มงบอีกนิด แล้วจัด Canon EOS100D พร้อมเลนส์คิต EF 40mm F2.8 STM สนนราคา 26,900 บาทดีกว่าไหม ขนาดก็เล็กและเบากว่าใช่ย่อย (แน่นอน หากหาตามร้านกล้องให้ดีๆ อาจจะได้ราคาถูกกว่านี้) หรือจะสอย Canon EOS700D + เลนส์ 18-55mm IS STM ที่ราคาประกันศูนย์ หาได้ถูกสุดๆ ก็แถวๆ 22,000 บาท แต่ฟีเจอร์เพียบแบบจัดเต็มมาก.


คงเดช กี่สุขพันธ์
E-Mail: kafaak@gmail.com

Create Date :01 มิถุนายน 2557 Last Update :1 มิถุนายน 2557 12:03:02 น. Counter : 4608 Pageviews. Comments :0