bloggang.com mainmenu search
1 มิถุนายน 2553 : สี่คนสุดท้าย ช่างปั้นน้ำต้น (คนโทโบราณล้านนา)


มาเปิดภาพถ่ายกับภาพลองแต่งแบบแนวๆ เห็นเค้าทำภาพไฮคีย์-โลคีย์กัน
ยังดูไม่เป็นเหมือนกันว่าจะทำกันอย่างไร แต่เอาไว้ก่อนยังไม่อยากไปแนวนั้นมากนัก
แค่ลองแต่งภาพเป็นภาพเปิด Blog สี่คนสุดท้าย ช่างปั้นน้ำต้น (คนโทโบราณล้านนา)



อ่านชื่อ Blog ดูแล้วเหมือนมีการแข่งขันของบ้าน AF, The Stars ยังไงอย่างงั้น
และสี่คนที่ยังเหลืออยู่นี้คงยังไม่อยากถูกคัดออก
สล่าลู สล่าแก้ว สล่าซาน สล่าแดง (สามคนแรกเป็นสล่ารุ่นสูงวัยแล้ว)
("สล่า" เป็นคำที่ใช้เรียกผู้ที่มีความสามารถและเชี่ยวชาญในเชิงช่าง เหมือนคำที่ใช้เรียกกันทั่วไปว่า ช่างลู ช่างแก้วฯ....ทางเหนือใช้คำว่า "สล่า" มานำหน้าชื่อผู้ที่มีความสามารถในเชิงช่างนี้)



ภาพชุดนี้ถ่ายภาพจากงานของดีชายแดนใต้ (สถานที่จัดงาน ห้างบิ๊กซี ดอนจั่น เชียงใหม่) งานนี้นอกจากมีสรรพสิ่งที่มากมายที่มาจากทางชายแดนภาคใต้แล้ว ยังได้รวมศิลปวัฒนธรรมของทางภาคเหนือบางส่วนเข้าไปด้วย

เดินไปหลายรอบ และก็แอบเห็นหนุ่มคนนี้สวมหมวกปิดบังใบหน้าขณะทำการปั้น "น้ำต้น" อย่างพิถีพิถันทุกขั้นตอน เห็นแล้วอดไม่ได้ที่จะหยิบกล้องขึ้นมา เพื่อไปขอถ่ายภาพชุดนี้มาให้ชมกัน



ขณะที่กำลังใส่เลนส์ ใส่ memory ก็ไปอ่านเจอกรอบหนังสือพิมพ์มติชน
ที่ถูกตัดแปะมาใส่กรอบวางโฆษณาไว้ให้เห็นกันว่า "สี่คนสุดท้ายในโลก ช่างปั้นน้ำต้น คนโทโบราณล้านนา"
เป็นคำโปรยที่เตะตา สะดุดตา แล้วชวนให้อยากถ่ายภาพชุดนี้มากขึ้น




"น้ำต้น หรือ คนโทดิน" ได้เห็นตั้งแต่มาอยู่เชียงใหม่ตั้งแต่แรกๆ และก็ได้ชิม ได้ดื่มน้ำภายในน้ำต้น คนโทดิน นั้นมาแล้ว
แรกๆ ก็ไม่ค่อยจะกล้าชิมมากนัก แต่เมื่อได้จิบน้ำเข้าไปแล้ว ความรู้สึกแรกๆ เลย
"ทำไมน้ำเย็นจัง"
กลิ่นและรส ครั้งแรกๆ รู้สึกทะแม่งๆ แปร่งๆ
แต่ในการดื่มน้ำจากน้ำต้น คนโทดิน ในครั้งต่อๆ ไป ไม่ได้รู้สึกแบบนั้นแล้ว
ได้แต่หวังว่าจะได้ดื่มน้ำเย็นๆ แก้กระหาย ให้ชื่นใจไปทุกๆ ครั้ง



สล่าหนุ่มคนนี้บอกว่า ผมเป็นลูกศิษย์ของสล่าแดง รุ่นผมนี้เป็นคนรุ่นใหม่ๆ แล้ว ที่อยากอนุรักษ์และสืบสานต่อ การปั้นดินให้เป็นน้ำต้นสวยๆ ให้คงอยู่ไม่สูญหายจากไป และหวังจะสานต่อเจตนารมณ์ของพ่อครูสล่าแดง

สล่าหนุ่มรูปหล่อ บอกว่า สล่ารุ่นสูงวัย 4 คนนั้น หลายคนอายุมากๆ แล้ว
ผมจึงตั้งใจที่อยากจะสืบสาน น้ำต้น คนโทดิน ให้คงอยู่ต่อไป



สอบถามลูกศิษย์ของสล่าแดงคนนี้ไปอีกว่า แล้วปกติทำอยู่ที่ไหน
สล่าหนุ่มรูปหล่อตอบว่า ผมอยู่บ้านน้ำต้น อำเภอแม่ว่าง จ.เชียงใหม่
และที่บ้านน้ำต้นนี้ ยังคงมีการปั้นน้ำต้น แต่ก็เหลือคนที่ปั้นได้น้อยลงไปทุกที

ฟังแล้วไม่แปลกใจเลยว่า หมู่บ้านนี้ จะได้ชื่อว่า บ้านน้ำต้น



ด้วยเจตนารมณ์ของสล่าแดงที่อยากเปิดโรงเรียนสอนการปั้นน้ำต้น เพื่อให้คงอยู่และเป็นหัตถกรรมพื้นบ้านล้านนาที่จะยังคงอยู่ชั่้วลูกหลาน ตอนนี้ที่บ้านก็กำลังปรับปรุงอยู่ และต่อไปคงจะได้มีการสอน หัดปั้นน้ำต้นกัน



รูปทรงที่ปั้นอยู่นี้จะเป็นรูปทรงแบบฟักทอง



เดิมทีดินที่ใช้เป็นดินที่ได้มาจากพื้นที่ในบ้านน้ำต้น นำมาตากให้แห้งแล้วบดให้เป็นผงร่อนตะแกรงให้เป็นฝุ่นละเอียดแล้วนำมาผสมน้ำจนได้เป็นดินหมัก นำดินหมักค้างคืนไว้ 1 คืน จึงเอามาปั้นได้

ก่อนจะเริ่มนำดินมาใช้ปั้น ยังต้องคลุกกับดินที่เป็นฝุ่น เพื่อให้ดินหมักนั้นเหมาะสมกับการใช้ปั้นมากที่สุด


นำดินมาคลึงกับดินฝุ่น แล้วก็นำไปทุบๆ ทุบไปทุบมา คลึงดินไปมาสักพักหนึ่ง










การเริ่มต้นปั้น ใช้ดินเป็นก้อนมาทุบเป็นก้อน
และใช้มือกดไปกดมา ปั้นเป็นรูปทรงแบบคร่าวๆ ก่อน เพื่อขึ้นรูปในส่วนของฐานก่อน

การปั้นขึ้นรูปตกแต่งนั้น มือ นิ้วมือ ถือเป็นส่วนสำคัญทีเดียว
ในการตกแต่งดิน
ในการปั่นหมุนแป้นไม้ให้หมุนไปโดยรอบ
ส่วนอีกมือข้างหนึ่ง ก็ต้องไปใช้จับอาวุธพิเศษ ที่ทำในรูปแบบเหมือนการกลึง




ส่วนการขึ้นรูปชั้นต่อๆ ไป จะใช้ดินปั้นเป็นเส้นกลมยาวๆ มาวางทับโดยรอบ แล้วก็ขึ้นรูปเป็นชั้นๆ ไป











ใช้มือตกแต่งขึ้นรูป เพื่อขึ้นรูปทรงเป็นชั้นๆ ไป


อาวุธพิเศษ(ไม้กลึง-ไม้ฉาก) ที่เป็นไม้ด้ามยาว ปลายด้านหนึ่งมีรูปแบบหลายรูปทรง เพื่อใช้ตกแต่งทั้งส่วนด้านนอก และด้านใน ถือว่าอาวุธพิเศษนี้เป็นส่วนสำคัญทีเดียว ในการปั้นน้ำต้นให้ออกมาเป็นรูปทรงที่สวยๆ

การตกแต่งวิธีนี้ เหมือนลักษณะการกลึง
เพื่อตกแต่งผิวด้านนอกให้เรียบ
ตกแต่งให้เป็นไปในตามรูปทรงที่ออกแบบไว้
ตกแต่งผิวด้านในเรียบ และปรับแต่งให้ได้รูปทรง








แปรง และ น้ำ
ใช้แปรงจุ่มน้ำ แล้วนำไปทาให้ดินนิ่มขึ้น ในส่วนที่จะตกแต่งขึ้นรูป


ชมขั้นตอนการขึ้นรูปไปเรื่อยๆ จนจบภาพที่ถ่ายมาครับ




แอบสงสัย และแอบถามว่า เมื่อแป้นที่วางกับแกนมันเอียงแบบนี้
ใช้หลักอะไรในการขึ้นรูป ให้ได้รูปทรง และดูสมมาตร
ได้คำตอบแบบที่แอบคิดไว้เหมือนกัน
ความสามารถพิเศษ และประสบการณ์จากการทำหลายๆ ชิ้น
ช่วยให้กะระยะ ปั้นขึ้นรูปชิ้นงาน โดยไม่เอียง โดยสังเกตจากการหมุนของรูปทรง
























































เมื่อทำเสร็จแล้ว นำเข้าเตาเผา จากนั้นนำไปตกแต่งสีลวดลาย หรือนำไปลงรักปิดทอง ออกมาเป็นน้ำต้นสวยๆ น่ามาใช้ หรือนำไปตั้งโชว์เป็นของประดับก็เป็นที่ชื่นชอบกันอย่างมาก









และมาปิดท้ายไว้กับภาพนี้ครับ


ขอบคุณ ลูกศิษย์ของสล่าแดง ที่เป็นแบบถ่ายภาพใน blog นี้ด้วยนะครับ
และหวังว่าคุณค่าความรุ่งเรืองของวัฒนธรรม ในการทำหัตถกรรมของชาวล้านนา จะยังคงยั่งยืน เจริญเติบโต คู่ไปกับความรุ่งเรือง ความดีงามของบ้านเมืองและจิตใจผู้คนชาวล้านนา และก็หวังว่าคงได้รับถ่ายทอดสู่คนรุ่นใหม่สมดังเจตนารมณ์ของสล่าแดงด้วยนะครับ

ขอบคุณทุกๆ ท่านที่แวะมาชมภาพถ่าย set นี้ด้วยครับ




*** คุยกันท้าย Blog
ภาพถ่าย Set นี้ใช้เลนส์ Sigma 70-200 mm. ถ่ายภาพทั้งหมด
ตอนแรกก็ไม่มั่นใจว่าจะเหมาะกับการถ่ายภาพแนวนี้เท่าไร
ด้วยเลนส์ที่หนัก แล้วต้องมาถ่ายภาพในมุมต่ำๆ คิดว่าจะถือกล้องถ่ายภาพได้ไม่นาน แต่ก็ใช้ถ่ายภาพมาจนจบ



กิจกรรมหนึ่งที่ทำได้ไม่่บ่อยนัก แต่เมื่อไรทำได้จะรู้สึกดีใจเสมอๆ
คือหลังจากถ่ายภาพกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งมา ก็อยากที่จะนำภาพถ่ายไปมอบให้กับเจ้าของด้วย กิจกรรมนี้คิดว่าไม่น่ามีปัญหา เพราะยังมีเวลาจัดงานเหลืออยู่ เดี๋ยววันนี้ไปอัดรูปแล้ว ก็คงจะนำภาพถ่ายชุดนี้ไปมอบให้กับสล่าแดงด้วยครับ


บ่ายวันนี้รีบแว๊บไปอัดรูปมาเสร็จแล้ว
เดี๋ยวเย็นนี้แวะไปส่งรูปให้กับเจ้าของภาพสักหน่อย..ครับ

ตกลงได้มอบภาพให้กันเป็นที่ระลึกเรียบร้อยแล้วครับ และก็ได้นั่งพูดคุยสอบถามเรื่องการปั้นน้ำต้นกลับมาด้วย
Create Date :01 มิถุนายน 2553 Last Update :1 มิถุนายน 2553 22:34:47 น. Counter : Pageviews. Comments :25