bloggang.com mainmenu search
ประเพณีใส่ขันดอกอินทขิล 20-27 พฤษภาคม 2552 ที่ วัดเจดีย์หลวงวรมหาวิหาร


ทุกปีเมื่อล่วงเข้าสู่เดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนมิถุนายน เชียงใหม่จะมีการจัดงาน
"ประเพณีใส่ขันดอกอินทขิล" หรือ "ประเพณีเดือนแปดเข้า เดือนเก้าออก"


โดยจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีที่วัดเจดีย์หลวงวรมหาวิหาร ซึ่งเป็นวัดสำคัญเก่าแก่วัดหนึ่งของเมืองเชียงใหม่


วัดเจดีย์หลวง เป็นวัดที่สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าแสนเมืองมา กษัตริย์องค์ที่ 7 แห่งราชวงศ์มังรายซึ่งครองราชอาณาจักรล้านนาไทย พระองค์ทรงสร้างพระธาตุเจดีย์หลวงขึ้นเมื่อปี พุทธศักราช 1934 หรือเมื่อประมาณ 612 ปีมาแล้ว ด้านหน้าของพระวิหารหลวงเป็นที่ตั้งของ เสาอินทขิล หรือ เสาหลักเมือง ซึ่งแต่เดิมเสานี้อยู่ที่วัดสะดือเมือง


ต่อมาในสมัยพระเจ้ากาวิละครองเมืองเชียงใหม่ พระองค์โปรดให้ย้ายเสาอินทขิลมาไว้ที่วัดเจดีย์หลวงและได้บูรณะปฏิสังขรณ์ ขึ้นใหม่พร้อมทั้งสร้างวิหารครอบไว้เมื่อปี พุทธศักราช 2343


ต่อมาวิหารอินทขิลได้ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา พอถึงปี พุทธศักราช 2496 ครูบาขาวปี นัก บุญแห่งล้านนาไทยอีกท่านหนึ่ง จึงได้สร้างวิหารอินทขิลขึ้นใหม่ในปัจจุบันและท่านยังนำเอาพระพุทธรูปปางขอฝน หรือ พระคันธารราษฏร์ประดิษฐานไว้บนเสาอินทขิลอีกด้วยเพื่อให้ชาวเมืองได้กราบ ไหว้บูชา ..............


เสาอินทขิลจึง ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่รวมวิญญาณของชาวเมืองและบรรพบุรุษในอดีต เป็นปูชนียสถานที่สำคัญ พิธีสักการะบูชาเสาอินทขิลจะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี การทำพิธีดังกล่าวจะทำในปลายเดือนแปดเหนือข้างแรมแก่


ในวันเริ่มทำพิธีนั้น พวกชาวบ้านชาวเมืองทั้งผู้เฒ่าผู้แก่ หนุ่มสาวจะพากันนำเอาดอกไม้ธูปเทียน น้ำขมิ้นส้มป่อยใส่พานหรือภาชนะไปทำการสระสรงสักการะ การทำพิธีดังกล่าวนี้มักจะเริ่มในวันแรม 13 ค่ำเดือน 8 เหนือ ไปแล้วเสร็จเอาในวันขึ้น 4 ค่ำเดือน 9 เหนือ เป็นประจำทุกปี จึงเรียกประเพณีใส่ขันดอกอินทขิลว่า "ประเพณีเดือนแปดเข้า เดือนเก้าออก"


ปัจจุบันเทศบาลนครเชียงใหม่ได้ดำเนินการสืบทอด ประเพณีอินทขิล โดยมีพิธีทางพุทธศาสนาเข้ามาผสมผสาน ในวันแรกของการเข้าอินทขิล มีการแห่พระเจ้าฝนแสนห่า จากวัดช่างแต้ม แห่รอบตัวเมือง เพื่อให้ประชาชนสรงน้ำและใส่ขันดอก


ส่วนภายในวิหารอินทขิล พระสงฆ์ 9 รูป จะทำพิธีเจริญพระพุทธมนต์บูชาเสาอินทขิล ซึ่งฝังอยู่ใต้ดินภายใต้บุษบกที่ประดิษฐานองค์พระพุทธรูป เมื่อเสร็จพิธีจะมีมหรสพสมโภชตลอดงาน


การบูชาอินทขิลของชาวเมือง เชียงใหม่นั้น ได้ประพฤติปฏิบัติกันมาอย่างเป็นระบบระเบียบเรียบร้อยทุกปี ในส่วนของวัตถุสิ่งของที่นำมาบูชาก็ล้วนแต่เป็นสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของความ สูงค่าที่เกิดจากแรงศรัทธาคารวะของชาวเชียงใหม่


แสดงให้เห็นว่า เสาอินทขิล หรือเสาหลักเมืองนั้นเป็นเหมือนหลักชัยแห่งเมือง การสร้างหลักเมืองขึ้นมาก็เพื่อให้เป็นศูนย์กลางยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้คนใน บ้านเมือง ให้เกิดพลังคือความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของพลเมือง ภายใต้กรอบศีลธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา


ขอบคุณเนื้อหาจาก //www.fm100cmu.com



ภาพถ่ายชุดนี้ ถึงแม้จะมีสคริปท์ที่คัดลอกมาไว้ก่อนแล้ว แต่ก็ไม่ได้ตั้งใจจะถ่ายภาพนำเสนอตามเนื้อเรื่องที่คัดลอกมา ตั้งใจไปถ่ายภาพบรรยากาศของผู้คนชาวเชียงใหม่ หรือจังหวัดอื่น รวมถึงชาวต่างชาติที่ต่างก็สนใจมาร่วมงานบุญของชาวเชียงใหม่ ประเพณีใส่ขันดอกอินทขิล ในงานครั้งนี้


งานนี้ที่จริงก็ยังมีคนที่สนใจการถ่ายภาพ ต่างก็ไปหามุมถ่ายภาพสวยๆ ของวัดเจดีย์หลวงทั้งงานบุญ ประเพณี วิถีชีวิต ของชาวเชียงใหม่ และยังรวมถึงความงดงามยามค่ำคืนของวัดเจดีย์หลวงอีกด้วย ซึ่งต่างก็แบกขาตั้งกล้องไปหามุมถ่ายภาพกันหลายๆ คน รวมถึงชาวต่างชาติที่ตั้งใจมาถ่ายภาพในงานนี้ด้วย มีโอกาสไปทำความรู้จักทักทายแลกเปลี่ยนการถ่ายภาพกันได้ เมื่อวานที่ได้ไปก็เจอหลายๆ คนอยู่เช่นกัน บ้างก็นำเทคนิคการถ่ายภาพให้ได้ภาพสวยๆ มาโชว์ให้ชมกันด้วย (แอบจำเค้ามาอีกล่ะ)


ขอบคุณผู้เป็นแบบให้ถ่ายภาพหลายๆ ท่านด้วยนะครับ ถึงแม้จะไม่ได้ตั้งใจเป็นแบบ แต่ก็พยายามนำเสนอภาพให้ได้มุมมองที่ดีๆ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตชาวเชียงใหม่ด้วยนะครับ

ขอบคุณทุกๆ ท่านที่แวะมาชมภาพถ่ายชุดนี้ด้วยครับ
Create Date :22 พฤษภาคม 2552 Last Update :22 พฤษภาคม 2552 8:39:14 น. Counter : Pageviews. Comments :18