bloggang.com mainmenu search
เลขาฯผู้ตรวจการแผ่นดินเผยผลสอบการตั้งพระสังฆราช ชี้ พศ.-มส.เสนอชื่อผิดขั้นตอน แจง กม.เขียนคำว่า “ให้” หมายความนายกฯเป็นผู้เสนอรายนามให้มส.พิจารณา ย้ำไม่ได้ก้าวล่วงมติ มส. แค่ตีความตามกฎหมาย พศ.ยืนยันข้อเสนอถูกต้องตามกฎหมายจารีต อดีตพระวัดพระธรรมกายแนะสมเด็จช่วงดูกรณีสรยุทธเป็นตัวอย่าง

 

เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2559 นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงกรณีนายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฎิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ ร้องเรียนให้ตรวจสอบการเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะที่สมควรได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช โดยสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เสนอให้มหาเถรสมาคม (มส.) พิจารณาและเสนอไปยังนายกรัฐมนตรีโดยไม่เป็นไปตามขั้นตอนใน มาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2535 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ว่า

เรื่องนี้ นายศรีราชา วงศารยางกูร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน และ พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ และนายบูรณ์ ฐาปนดุลย์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ร่วมกันพิจารณาข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย ระเบียบราชประเพณี ประกอบเอกสารหลักฐานจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า การที่ พศ.เสนอรายนามพระราชาคณะให้ มส.พิจารณา และเสนอต่อนายกรัฐมนตรีนั้น เป็นกระทำผิดขั้นตอน ไม่เป็นไปตามกฎหมาย เนื่องจากวรรค 2 มาตรา 7 พ.ร.บ.คณะสงฆ์ที่บัญญัติว่า “ในกรณีที่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ขึ้นทูลเกล้าฯถวาย เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช”

ผู้ตรวจการแผ่นดินได้พิจารณาตามพจนานุกรมและปรึกษาผู้เชี่ยวชาญแล้ว ให้ความเห็นว่าจากรูปประโยคของกฎหมายนั้นคำว่า “ให้” นั้น หมายความว่านายกฯ จะต้องเป็นผู้เสนอรายนามให้ มส.พิจารณา และเมื่อ มส.เห็นชอบ จึงจะส่งชื่อให้นายกฯนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายอีกครั้งหนึ่ง

ทั้งนี้ ที่กฎหมายระบุอย่างนี้ก็เพราะนายกฯ ต้องเป็นคนเสนอและเป็นคนรับผิดชอบ ดังนั้นก็จะต้องมีส่วนร่วมในการพิจารณาด้วย ไม่ใช่เป็นเพียงนายไปรษณีย์ แต่เมื่อพิจารณาขั้นตอนที่ มส.ดำเนินการพบว่าผิดขั้นตอน

นายรักษเกชากล่าวอีกว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ส่งหนังสือไปยังนายกรัฐมนตรีแล้วในช่วงเช้าวันนี้ ( 4 มีนาคม) เพื่อให้นายกฯพิจารณาข้อเสนอแนะและสั่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแล พศ. ให้ดึงเรื่องกลับและดำเนินการให้ถูกต้องตามขั้นตอน

“อย่างไรก็ตาม ข้อแนะนำของผู้ตรวจการแผ่นดินไม่มีผลผูกพันเหมือนคำพิพากษาของศาล เป็นเพียงข้อแนะนำซึ่งขึ้นอยู่กับดุลพินิจนายกฯ ว่าเห็นด้วยต่อข้อเสนอของผู้ตรวจการแผ่นดินหรือไม่ ทั้งนี้การพิจารณาของผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ได้ก้าวล่วงว่ามติ มส.ที่เห็นชอบเสนอชื่อใคร หรือคนที่ถูกเสนอชือเหมาะสมที่จะเป็นพระสังฆราชหรือไม่อย่างไร แต่เราตีความตามข้อกฎหมายว่าดำเนินการถูกต้องหรือไม่”นายรักษเกชากล่าว

เมื่อถามว่าการตีความกฎหมายครั้งนี้อาจทำให้ฝ่ายอาณาจักรครอบงำฝ่ายศาสนจักรหรือไม่ นายรักษเกชาตอบว่า เป็นความเห็นของแต่ละคนจะมองว่าเป็นอย่างไร หากเห็นว่าครอบงำก็ต้องไปแก้กฎหมาย เพราะผู้ตรวจพิจารณาตามกฎหมายปัจจุบันเท่านั้น

ไพบูลย์ขอให้รอความชัดเจนก่อนเพราะสมเด็จช่วงยังมีกรณีเบนซ์และธรรมกาย

เมื่อวันที่ 4 มีนาคม นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เปิดเผยว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีผลการวินิจฉัยตามที่ตนได้ยื่นเรื่องร้องเรียน โดยเห็นว่า การที่มหาเถรสมาคมได้พิจารณารับรองรายงานการประชุมครั้งพิเศษที่ 1/2559 เมื่อวันที่ 5 ม.ค.2559 ในการประชุมมหาเถรสมาคมครั้งที่1/2559 เมื่อวันที่ 11 ม.ค.2559 เป็นการริเริ่มจากมหาเถรสมาคมทั้งสิ้น มิใช่เริ่มจากนายกรัฐมนตรี หรือรัฐบาลแต่อย่างใด

นอกจากนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินยังมีความเห็นและข้อเสนอแนะไปยังนายกรัฐมนตรี ในฐานะเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่2) พ.ศ.2538 ขอให้รัฐบาลพิจารณาสั่งการให้ "รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี" พิจารณาจัดส่งบันทึกของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ในประเด็นมติมหาเถรสมาคมเห็นชอบนาม "สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุณโญ)" อันเป็นการกระทำผิดขั้นตอน เป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย จึงสมควรที่จะคืนเรื่องไปยังส่วนราชการเจ้าของหนังสือ เพื่อดำเนินการให้ถูกต้องขั้นตอนบทบัญญัติของกฎหมาย

นายไพบูลย์ กล่าวอีกว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินยังมีความเห็นว่า ระยะเวลาในการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่แทนพระองค์เดิม ซึ่งสิ้นพระชนม์ กฎหมายคณะสงฆ์ไทยมิได้กำหนดระยะเวลาไว้แต่อย่างใด และเมื่อพิจารณาบทบัญญัติของกฎหมาย และระเบียบราชประเพณีแล้ว คุณสมบัติของพระภิกษุในคณะสงฆ์ไทย ที่จะได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช ต้องเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ และนายกรัฐมนตรีได้เสนอนามมา ตลอดจนได้รับความเห็นชอบจากมหาเถรสมาคม มีจริยวัตรสำรวจเรียบร้อยไม่หวั่นไหวต่อโลกามิสเพียบพร้อมไม่ด่างพร้อย เป็นที่เคารพสักการะของคณะสงฆ์ และประชาชนตลอดจนได้บำเพ็ญศาสนกิจเป็นประโยชน์แก่บวรพระพุทธศาสนาและราชอาณาจักร อีกทั้งยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้

"นอกจากนี้สมเด็จช่วงยังมีคดีที่เกี่ยวข้องกับรถเบนซ์และพระธัมชโย เจ้าอาวาสวัดธรรมกาย ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินคดีของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ก็ควรให้เกิดความชัดเจนก่อน โดยเฉพาะกรณีรถเบนซ์ ถือว่ามีความผิดกฎหมายศุลกากร มาตรา 27 ทวิ เป็นคดีอาญาและมีโทษทั้งจำและปรับ ดังนั้นนายกรัฐมนตรีที่มีหน้าที่นำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯควรที่จะรอให้ทุกอย่างเกิดความชัดเจนก่อน"นายไพบูลย์กล่าว

ชูกรณี“สรยุทธ”เป็นต้นแบบขอสมเด็จช่วงยุติบทบาท

ทางด้านนพ.มโน เลาหวณิช อดีตกรรมการฯและอดีตพระธรรมกายรุ่นแรก กล่าวว่า อยากให้สมเด็จช่วงดูตัวอย่างการทุจริตของบริษัท ไร่ส้ม จำกัด ที่มีนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา พิธีกรชื่อดัง เป็นกรรมการผู้จัดการ ซึ่งได้ประกาศยุติบทบาททำหน้าที่พิธีกร ดังนั้นสมเด็จวัดปากน้ำก็ควรตั้งคำถามว่า สมควรหรือไม่ ที่จะปฏิบัติหน้าที่เป็นสมเด็จพระสังฆราชและตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดปากน้ำไปพร้อมๆกัน ในขณะที่คดียังไม่มีความชัดเจน

ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความสง่างามของพระพุทธศาสนา ตนขอเรียกร้องให้สมเด็จช่วงพิจารณาความเหมาะสมของตนเองเพื่อเป็นภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศและวงการสงฆ์ต่อไป

“วิษณุ”ระบุมติผู้ตรวจการฯเป็นเพียงความคิดเห็นหนึ่ง

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินแถลงถึงขั้นตอนการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช ตามมาตรา 7 ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คณะสงฆ์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2535 ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีอำนาจในการเสนอชื่อ ดังนั้นมติมหาเถรสมาคม (มส.) เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2559 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายว่า ตนยังไม่เห็นเรื่องดังกล่าว แต่รับทราบความเห็นแล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ที่บอกว่าให้นายกรัฐมนตรีเสนอชื่อที่มส.เห็นชอบ แต่พ.ร.บ.คณะสงฆ์ไม่ได้เขียนว่าใครเป็นคนเสนอไปหรือเป็นคนเสนอมา ซึ่งจะเอาชื่อที่มส.ไม่ได้มีมติเห็นชอบขึ้นไปถวายนั้น คงไม่ได้ ดังนั้นวันนี้จึงยังถกเถียงกันอยู่ว่านายกรัฐมนตรีต้องส่งชื่อไปที่มส.ก่อน หรือให้มส.เสนอชื่อมาที่นายกรัฐมนตรี

นายวิษณุกล่าวว่ามติของผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นการเสนอความคิดเห็นมากกว่าการชี้แนะ เราก็อาจจะรับฟัง แต่จะทำอย่างไรต่อไปก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

เมื่อถามว่า ที่ผ่านมาการที่มส.เสนอชื่อมาที่นายกรัฐมนตรีก่อนนั้นถือว่าถูกต้องหรือไม่ นายวิษณุตอบว่า ยังไม่ถึงขั้นนั้น รัฐบาลไม่เคยสงสัยในข้อนี้ เรื่องนี้เป็นการวินิจฉัยข้อกฎหมาย โดยรัฐบาลมีวิธีหาทางออกอยู่แล้ว นอกจากนี้ ปัญหาต่างๆถ้ารัฐบาลสงสัยก็จะสอบถามไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา เพราะมีขั้นตอนอยู่แล้ว ทั้งนี้ เวลานี้เรายังไม่ต้องทำอะไร เพราะไม่ใช่ประเด็นที่ว่า เราเดินมาถูกหรือผิด

นายวิษณุเปิดเผยว่าเรื่องนี้ได้มีการพูดคุยในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึง 2 ครั้งแล้ว โดยครม.รับทราบ ซึ่งไม่มีครม.คนใดเห็นว่าเรามาผิดหรือถูกทาง

เมื่อถามต่อว่า เมื่อผู้ตรวจการแผ่นดินชี้แจงออกมาในลักษณะนี้มส.ต้องเรียกประชุมเพื่อทบทวนกันอีกครั้งหรือไม่ นายวิษณุตอบว่า จะประชุมหรือไม่คงต้องแล้วแต่มส.เอง แล้วใครบอกว่าผิด ปัญหาดังกล่าวเราได้มีการขอร้องกับทุกฝ่ายแล้วว่าให้อยู่ในความสงบ เนื่องจากทุกขั้นตอนล้วนมีกระบวนการอยู่ ซึ่งรายละเอียดอื่นจะให้นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลงานสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) หาวิธีจัดการ

พศ.ยันมติมส.เสนอสังฆราชชอบด้วยกฎหมายจารีต

ในวันเดียวกัน 4 มีนาคม นายชยพล พงษ์สีดา รอง ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามกรณีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 กล่าวว่า กรณีสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน มีความเห็นในการตีความมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 โดยเห็นว่าการพิจารณาเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะ ซึ่งเริ่มต้นจากมหาเถรสมาคม (มส.) เพื่อเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะที่มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ไปยังนายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อโปรดเกล้าฯสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 เป็นการดำเนินการที่ผิดขั้นตอน โดยที่ถูกต้องนั้นต้องเริ่มต้นจากนายกรัฐมนตรีเป็นผู้พิจารณานามสมเด็จพระราชาคณะ และเสนอมายังมส.นั้น

ตนขอยืนยันว่า พศ.และมส.ได้พิจารณาในเรื่องการเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะเพื่อเสนอสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 20 อย่างรอบคอบ และเป็นไปโดยชอบตามกฎหมายคณะสงฆ์และจารีตประเพณีขณะนี้ได้ส่งเรื่องไปยังนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่กำกับพศ.เรียบร้อยแล้ว เพื่อพิจารณาเสนอไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจึงจบขั้นตอนในส่วนที่พศ.และมส.รับผิดชอบไปแล้ว

รองผอ.พศ. กล่าวว่าหากหน่วยงานใดมีความเห็นแตกต่างออกไปจากที่ พศ.และ มส.ดำเนินการก็เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีที่จะตัดสินใจ และเป็นผู้ชี้ขาดว่าที่ถูกคืออะไร ซึ่ง พศ.ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง และไม่สามารถไปก้าวล่วงได้ เพราะเป็นอำนาจการพิจารณาของนายกรัฐมนตรีเชื่อว่าสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินคงจะมีหนังสือแจ้งไปถึงรัฐบาลโดยตรง แต่หากรัฐบาลมีหนังสือสอบถามความเห็นกรณีการตีความของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินมายัง พศ.ทางพศ.ก็พร้อมให้ความเห็นและแจ้งตอบรัฐบาล

ศูนย์พิทักษ์ฯองค์กรพุทธเตรียมเคลื่อนไหว

เมื่อวันที่ 4 มีนาคมพระเมธีธรรมาจารย์ หรือ เจ้าคุณประสาร เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ข้อวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินที่ว่ามหาเถรสมาคม(มส.)ทำผิดขั้นตอนเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชนั้น อาตมาขอตั้งข้อสังเกตอยู่ 2 เรื่องว่า

1.ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีอำนาจวินิจฉัยมติมส.ได้หรือไม่

2. วิธีปฏิบัติของ มส.ก็ได้ปฏิบัติเหมือนเมื่อครั้งการเสนอสถาปนาสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เมื่อปี 2532 ฉะนั้นการสถาปนาสมเด็จพระญาณสังวรจะถือว่า โมฆะด้วยหรือไม่ เพราะครั้งนี้ก็ใช้วิธีปฏิบัติเดียวกันจะนำไปสู่ปัญหาอะไรอีก

ส่วนความเคลื่อนไหวของศูนย์พิทักษ์ฯ และองค์กรพุทธจากนี้จะดำเนินการศึกษาข้อเท็จจริง ข้อกฏหมาย จารีตประเพณีเพื่อกำหนดการเคลื่อนไหวต่อไป “กรณีมีกลุ่มบุคคลออกมาเคลื่อนไหวให้สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์หยุดปฏิบัติหน้าที่เหมือนผู้ประกาศช่อง 3 ซึ่งสมเด็จวัดปากน้ำ ท่านทำผิดอะไร ท่านไม่ได้ต้องคดีอะไรเลยเป็นเพียงข้อกล่าวหา จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชอย่านำมาโยงกัน”เลขาธิการศูนย์พิทักษ์ฯกล่าว

“พระพรหมโมลี”แจ้งคณะสงฆ์อย่าขัดแย้งรัฐบาลตั้งสังฆราช  

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 3 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พระพรหมโมลี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) ในฐานะประธานคณะเลขานุการผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ได้ทำหนังสือที่ สลส.16/2559 เรื่องการนำเสนอข้อมูลข่าวสารในวิธีปฏิบัติเพื่อสนับสนุนการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชโดยแจ้งมายังเจ้าคณะใหญ่ทุกหน ความตอนหนึ่ง ว่า ตามที่ได้ปรากฎข่าวคึกโครมทางสื่อมวลชนและสื่อออนไลน์เกี่ยวกับการที่วัดต่างๆ ได้มีการขึ้นป้ายรณรงค์สนับสนุนมติ มส.ในการเสนอชื่อ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เพื่อสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช และมีเครือข่ายองค์กรพระสงฆ์รุ่นใหม่ให้ข่าวในลักษณะที่ว่า จะมีการประกาศคว่ำบาตรไม่ให้ความร่วมมือกับรัฐบาล ซึ่งสร้างความไม่สบายใจให้เกิดขึ้นแก่พระเถรานุเถระและพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไปเกรงว่าจะนำมาซึ่งความไม่เข้าใจ และอาจก่อให้เกิดความร้าวฉานระหว่างรัฐบาลกับคณะสงฆ์

คณะเลขานุการผู้ปฎิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชเชื่อว่าคณะสงฆ์ทั่วสังฆมณฑลเห็นพ้อง และสนับสนุนมติ มส.ดังกล่าว ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน รัฐบาลต้องใช้ความละเอียดรอบคอบในการดำเนินการตามมติของ มส.และครรลองแห่งกฎหมาย ประเพณีนิยม ขอให้วางใจและมั่นใจในการดำเนินการของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกส่วนงานจึงขอเรียน เจ้าคณะพระสังฆาธิการ และพระภิกษุสามเณรในปกครองขออย่าได้ดำเนินการใดๆ อันเป็นการไม่เหมาะสมต่อสมณสารูป หรือความเคลือบแครงใจแก่ประชาชนทั้งหลาย เพราะเรื่องการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชนี้ เป็นเรื่องละเอียดอ่อน และเป็นสิ่งที่คนไทยทุกคน ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์จำต้องตระหนักให้จงมั่น

ทั้งนี้ เพื่อรักษาความถูกต้อง สง่างามและดำรงอยู่เป็นศูนย์รวมใจของพุทธศาสนิกชนทั้งหลายตลอดยิ่งยืนนาน

ที่มา thaitribune

Create Date :05 มีนาคม 2559 Last Update :5 มีนาคม 2559 13:00:52 น. Counter : 2405 Pageviews. Comments :1