คิดถึงเชียงราย...

 
สิงหาคม 2555
 
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
1 สิงหาคม 2555
 

Review Movie: A Simple Life สำรวจจริยธรรมขั้นพื้นฐานที่มนุษย์พึงต้องมี [By. Anurak_sk]




มนุษย์จัดเป็นสัตว์สังคมสายพันธุ์หนึ่ง  ไม่สามารถอยู่คนเดียวได้ จำเป็นต้องอยู่กันเป็นกลุ่ม ช่วยเหลือจุนเจือกัน เติมเต็มโครงสร้างสถาบันสังคมให้เติบโต โดยเริ่มต้นจากสถาบันครอบครัวเป็นก้าวฐานแรกก่อน แล้วสถาบันสังคมนั้น ๆ จะดีได้จำเป็นต้องพึ่งสถาบันครอบครัวที่แข็งแรงตามไปด้วย






พูดเหมือนง่าย... แต่กลับเป็นเรื่องยาก....  ตราบใดที่มนุษย์ยังเป็นหนึ่งในปัจจัยสัตว์สังคมวัตถุนิยม ผู้คนต้องปากกัดตีนถีบหาเงิน อาหาร สินทรัพย์ ชื่อเสียงการยอมรับทางสังคมขั้นสูง (สุด) จนเกินเลยความต้องการปัจจัย 4 ความสำเร็จที่ได้มาจึงต้องแลกกับเวลาที่เสียไป ส่งผลถึงเวลาที่มีให้สถาบันครอบครัวมีจำกัด ความรัก ความอบอุ่น ทำได้ไม่เต็มที่  ปัญหา 108 ตามมา เด็กวัยรุ่นเสียคน, อัตตาคู่ผัวตัวเมีย และปัญหาคนเฒ่าคนแก่ที่ต้องปลีกวิเวกไปอยู่บ้านพักคนชราเพราะลูก ๆ ไม่มีเวลาเลี้ยงดู มันเป็นผลกระทบลูกโซ่เกินกว่าธรรมชาติจะเข้ามาจัดการได้ ตราบใดที่มนุษย์ยังตีตัวออกห่างธรรมชาติ คิดว่าตัวเองคือศูนย์กลางของจักรวาล ใช้ความคิดซับซ้อนเพื่อสนองความต้องการตัวเอง มันก็ได้ส่งผลถึงระบบสถาบันทางครอบครัวเราให้ยิ่งซับซ้อนขึ้น จัดการยากขึ้น





A SIMPLE LIFE หนังเจ้าของรางวัลภาพยนตร์ฮ่องกง 5 สาขาใหญ่ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ผู้กำกับยอดเยี่ยม นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม หนังเรื่องนี้จัดเป็นหนังกล่องกวาดรางวัลใหญ่ ๆ มาแล้วทั่วโลก บทหนังถูกเขียนขึ้นมาจากชีวิตจริงของ โรเจอร์ ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ชื่อดัง บอกเล่าเรื่องราวของคน 2 สถานะระหว่างนายจ้าง โรเจอร์ (หลิวเต๋อหัว) กับ อาเตา (เยี่ยเต๋อเสียน) หญิงรับใช้ที่อยู่กับครอบครัวนี้ปมาร่วม 60 ปี เธอเลี้ยง โรเจอร์ ตั้งแต่เล็กจนโต จนวันหนึ่ง สมาชิกในครอบครัว โรเจอร์ ต้องย้ายไปอยู่อเมริกา คงเหลือแต่เธอเป็นผู้ดูแล โรเจอร์ ที่แม้จะโตเป็นหนุ่มใหญ่แล้ว แต่ยังมีนิสัยเหมือนเด็กหลายอย่างให้ อาเตา ต้องคอยเป็นห่วง จนวันหนึ่ง อาเตา เกิดเส้นเลือดในสมองแตกพอหายกลับมาก็ทำงานได้ไม่เหมือนเก่า อาเตา จึงขอเกษียณตัวเองลาออกไปอยู่บ้านพักคนชรา โดยมี โรเจอร์ คอยช่วยเหลือด้านการเงิน หมั่นเยี่ยมเยียน ใช้กำลังใจ อาเตา จนสิ้นลมหายใจ





บทหนังฟังดูเหมือนเรียบง่าย เล่ารวบรัดไม่น่าเกิน 5 นาทีจบ แต่ตัวหนังกลับน่าหลงไหลชวนให้ติดตามตั้งแต่ต้นจนจบ ผู้กำกับหญิงคนเก่ง  แอน ฮุย สร้างสรรค์ให้ A SIMPLE LIFE เป็นหนังที่เต็มอิ่มไปด้วยความรัก... ความรักที่แฝงอยู่ในเครื่องหมาย ? ชวนคนดูร่วมสำรวจจิตใจตัวเอง และคุณค่าของนิยามคำว่า "ความกตัญญู" จริยธรรมขั้นพื้นฐานที่มนุษย์จำเป็นต้องมีกันทุกคน เพราะตราบใดที่มนุษย์ยังเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และธรรมชาติของมนุษย์คือเป็นสัตว์สังคม มนุษย์เกิดมาต้องมีครอบครัว ต้องมีคนเลี้ยงดู สั่งสอน วงจรความกตัญญู ตอบแทนผู้มีพระคุณจึงต้องวนเวียนเป็นวัฏจักรให้มนุษย์ปฎิบัติต่อ ๆ กันไป





วงจรความกตัญญูไม่จำกัดต้องตอบแทนให้เฉพาะ พ่อ แม่ แต่ยังรวมถึงคนที่เลี้ยงเรา สั่งสอนเราจนได้ดี เปรียบเหมือนกับความรักของ อาเตา ที่มีให้กับ โรเจอร์ ผู้กำกับแอน ฮุย เลือกที่จะบอกเล่าสายสัมพันธ์ความรักที่มีต่อกันระหว่าง อาเตา กับ โรเจอร์ ให้ออกมาแบบเรียบง่าย บทพูดไม่มาก แต่ภาพที่สื่อออกมาก็มีความหมายในตัวมันเองทุกฉาก ไม่ว่าจะเป็นฉากแนะนำตัวละครตอนต้นเรื่อง ที่ผู้กำกับแอน ฮุย ทำออกมาได้เงียบเชียบ สั้นกระชับ เข้าใจง่าย ภาพได้ซูมไปที่ โรเจอร์ ขณะกำลังกินข้าวกับปูที่เขาชอบ จากนั้นภาพก็สลับไปที่แมวของ อาเตา กำลังกินข้าวมูมมามคล้ายกัน ผู้กำกับแอน ฮุย ใช้ภาษาภาพเพียงไม่กี่วินาทีบรรยายแทนคำพูดถึงความรักความเอ็นดูของ อาเตา ที่มีให้กับ โรเจอร์ เธอมีความสุขที่ได้จัดของโปรดให้ โรเจอร์ กินและเฝ้าดูอย่างมีความสุข (เฉลยพฤติกรรม อาเตา ในตอนจบ) มันเป็นภาษาภาพโดดเด่นที่ไม่จำเป็นต้องใช้คำพูดเรี่ยราดบอกเล่า ก่อนหนังจะเข้าสู่หมวดความห่วงใยสนิทสนมที่ทั้งคู่มีต่อกัน จากบทพูดน้อยคำแต่มากความหมายเหมือนเดิม เมื่อ โรเจอร์ เรียกร้องจะกิน ลิ้นวัวตุ๋น อาเตา เลยแสดงความเป็นห่วงตอกกลับ "ชั้นก็ทำปูอบให้แล้วไง คุณเพิ่งจะหายจากโรคหัวใจนะ" จากนั้นภาพก็สลับมาที่ครัวลงเอยสุดท้าย อาเตา ก็ต้องหาซื้อลิ้นวัวมาตุ๋นให้ โรเจอร์ กิน





มันเป็นการแนะนำสายสัมพันธ์ที่ยิ่งใหญ่ตัวละครทั้งสอง เรียบง่าย ทรงพลัง แม้จะต่างสถานะ ระหว่าง "คนใช้" กับ "นายจ้าง" แต่สถานะคนใช้ของ อาเตา ก็ได้ถูกเวลาและความผูกพันธ์ค่อย ๆ ปรุงแต่งเปลี่ยนสถานะตัวเองตามสัญชาติความเป็นแม่ในตัวผู้หญิงจนมอง โรเจอร์ เหมือนกับลูกแท้ ๆ คอยเอาใจใส่ดูแลไม่ให้เขาเป็นอะไรไป ขณะที่ โรเจอร์ เองก็มีความไว้เนื้อเชื่อใจใน อาเตา เอาแต่ใจตัวเองเวลาอยู่ด้วยกัน ไม่ต่างอะไรกับลูกที่กำลังเรียกร้องสิทธิความดูแลจากแม่ เมื่อหนังดำเนินไปต่อ ผู้กำกับ แอน ฮุย เลือกที่จะใช้ลักษณะการแต่งตัวของ โรเจอร์ เป็นอะไหล่บอกเล่าถึงภูมิหลังการถูกเลี้ยงดูของ โรเจอร์ ในตอนเด็ก "ใครเลี้ยงเขามา... ใครคือต้นแบบชีวิตชายผู้นี้.." ผู้กำกับ แอน ฮุย ได้สร้างซีเควนท์ภาพเปรียบเทียบระหว่าง โรเจอร์/อาเตา อยู่นัย นัย ผ่านรสนิยมการแต่งตัว แม้ โรเจอร์ จะเป็นถึงผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ชื่อดัง แต่เขากลับเลือกใส่เสื้อปอน ๆ คล้าย อาเตา หนังได้เฉลยคำตอบด้วยตัวมันเองผ่านภาษาภาพยามทั้งคู่อยู่ในเฟรมเดียวกัน "ใครกันที่เลี้ยงดู โรเจอร์... ใครคือต้นแบบชีวิต โรเจอร์..." โดยที่หนังไม่จำเป็นต้องใช้คำพูดเรี่ยราดคนดูก็เคลียร์ได้จากภาษาภาพที่โดดเด่น





เรียกได้ว่า อาเตา คือผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ โรเจอร์ ก็ว่าได้ เธอคือต้นแบบนิสัย แนวคิด รวมถึงได้วางแนวทางการใช้พฤติกรรมเวลาเข้าร่วมสังคม ที่ต้องมีอ่อนบ้าง แข็งบ้าง เพื่อไม่ให้ โรเจอร์ ต้องกลายเป็นผู้ใหญ่ขี้แหยวันข้างหน้า เห็นได้ในฉากที่ โรเจอร์ เจรจาเรื่องเงินทุนกับธนาคารแบบไม่ยอมอ่อนข้อ เหมือนกับเวลาที่ อาเตา มีปากเสียงกับคนแก่ปากเสียในบ้านพัก ซีเควนท์ภาพเปรียบเทียบเรื่องของนิสัยระหว่าง โรเจอร์/อาเตา ในหนังมีให้เราเห็นอยู่นัย นัย ตลอดเรื่อง ซึ่งก็ได้ยิ่งช่วยเชื่อมโยงตรระกะมิตรภาพความผูกพันธ์ของทั้งคู่ก่อนปูสู่ฉากจบสะกิดน้ำตา





หนังตั้งใจสื่อว่า อาเตา เลี้ยงดู โรเจอร์ จนเป็นคน 2 ประเภทในร่างเดียวกัน "ผู้ใหญ่เก่ง และเด็กไม่รู้จักโต" นอกจากเรื่องการแต่งตัวของทั้งคู่ที่คล้ายกันแล้ว ภาพฉากกินข้าวร่วมกันของเหล่าผู้บริหาร โรเจอร์ ก็ได้ถูกฟ้องต่อสายตาคนดู ถึงพื้นฐานการถูกเลี้ยงดูของเขาที่ได้ อาเตา คอยตามใจสปอยแต่เด็ก เรื่องอาหารการกิน โรเจอร์ เป็นคนเลือกกินแต่ของที่เขาชอบ และเขาก็ได้ อาเตา คอยเติมเต็มความต้องการตรงนี้ให้ เมื่อเอาฉากนี้มาเชื่อมโยงกับฉากต้นเรื่อง โรเจอร์ เรียกร้องจะกินลิ้นวัวให้ได้ ก็ได้สะท้อนให้เห็นถึงความน่ารัก และสายสัมพันธ์อันน่ามหัศจรรย์ของทั้งคู่ อาเตา เป็นทั้งต้นแบบชีวิตแถมยังเป็นคนที่มาช่วยเติมเต็มความอบอุ่นให้ โรเจอร์ ในวัยเด็กที่ดูจะเก็บกดจากระเบียบวินัยสุดโต่งจากแม่ของเขา จากหลาย ๆ เหตุการณ์ในหนังที่พูดถึงวินัยหลายเรื่องที่แม่ โรเจอร์ วางกรอบไว้ และ โรเจอร์ ก็ได้ อาเตา คอยเข้าข้าง เติมเต็มส่วนทีขาดหายไป บ่มเพาะให้ โรเจอร์ เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีประสิทธิภาพอย่างที่เราได้เห็นในหนัง





ขณะเดียวกัน ตัวหนังยังเป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของระบบสถาบันสังคมวัตถุนิยม ที่ส่งผลกระทบต่อวงจรระบบสถาบันครอบครัวล้มเหลวเป็นโดมิโนทอดต่อกัน หลายครั้งหนังได้จับภาพไปยังอพาร์ทเม้นส์ชุมชนแออัดในฮ่องกง ก่อนจะสลับภาพไปยังบ้านพักคนชราที่ อาเตา อยู่ พร้อมกับเรื่องราวคนชราหลาย ๆ คนที่ชวนหดหู่ ลูก ๆ นำมาทิ้งไว้ บ้างก็เกี่ยงเรื่องค่าใช้จ่ายกัน ขณะที่ธุรกิจบ้านพักคนชราที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็บ ก็เป็นเหมือนสัญลักษณ์สะท้อนให้เห็นถึงภาพความล้มเหลวของระบบสถาบันสังคมวัตถุนิยมที่ส่งผลถึงสถาบันครอบครัวแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ วิถีชีวิตคนเมืองมุ่งหวังตักตวงความต้องการเกินพื้นฐานปัจจัย 4 แลกกับเวลา จนไม่มีที่ว่างให้ พ่อ แม่ ในช่วงเวลาที่ท่านต้องการเรามากที่สุด คุณค่าของเงิน ความเห็นแก่ตัว ได้ครอบงำจริยธรรมขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ควรมี





แต่อีกนัยหนังก็ได้สะท้อนอีกหนึ่งเรื่องราวในชีวิตจริงของคนหนุ่มสาวในสังคมปากกัดตีนถีบ ความบีบคั้นในภาระ ความรับผิดชอบ งานที่ต้องทำ จนไม่มีเวลาให้ครอบครัวตัวเอง จากฉากที่หมอสาวต้องยอมสละวันหยุดให้ลูกน้องช่วงเทศกาลตรุษจีน ส่วนเธอเองต้องทำงานคนเดียว ใช่ว่าหนังจะสะท้อนคำถามแรง ๆ ถึงปริมาณความกตัญญูในตัวเรา แต่หนังยังเป็นกระจกสะท้อนอีกแง่มุมหนึ่งของคนปากกัดตีนถีบหลาย ๆ คน ในสังคมที่ดูจะไม่มีทางเลือก ต้องทำงานแลกข้าว แลกน้ำ เลี้ยงครอบครัว สละเวลาเพื่อปากท้อง จนไม่มีเวลาเลี้ยงพ่อ เลี้ยงแม่ ได้แบบเต็มที่ บ้านพักคนชราจึงเป็นคำตอบของความกตัญญูที่จำเป็นต้องเลือก





ในเมื่อมนุษย์ถอยห่างจากวงจรวิถีชีวิตที่ธรรมชาติวางไว้ เข้าสู่วิถีคนเมืองที่เงินคือตัวแปรสำคัญ มันจึงเป็นดาบสองคมสะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลววิถีคนเมืองอย่างเห็นได้ชัด เมื่อมนุษย์คนเมืองใช้ค่อนชีวิตหมดไปกับการหาเงิน พอนานวันเข้าจริยธรรมความกตัญญู พ่อ แม่ ที่เราเองต้องดูแลท่านยามแก่เฒ่า ก็ค่อย ๆ ถูกบั่นทอนให้ไร้จิตสำนึกลงช้า ๆ ด้วยเหตุผลเรื่องของเวลาจำกัดจำเขียด ฟังขึ้น... เถียงยาก... มันเป็นวัฏจักรชีวิตที่มนุษย์วางกรอบขึ้นมาให้ฉลาดเกินกว่าธรรมชาติจะจัดการได้ บ้านพักคนชราจึงเป็นคำตอบสุดท้ายสำหรับคนเฒ่า คนแก่ ที่ลูกหลานเอามาทิ้งไว้ นั่นเป็นเหตุผลที่ธุรกิจบ้านพักคนชราในฮ่องกงผุดขึ้นเป็นดอกเห็บ หนัง A Simple Life จึงสะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของวิถีชีวิตคนเมืองอันแสนหดหู่ หน้าที่ความกตัญญูคนหนึ่ง ๆ จะทำได้ขึ้นอยู่กับเงินที่เป็นตัวแปรสำคัญ เช่นเดียวกับหมอสาว ขณะเดียวกันหนังก็ได้ยิงคำถามพื้นฐานจริยธรรมที่มนุษย์พึงต้องมี ถึงกลุ่มคนที่มีพร้อมแล้วทุกอย่าง แต่ทำไมกลับทอดทิ้ง พ่อ แม่ ตัวเองไว้บ้านพักคนชราได้ลงคอ





ตัวละครอย่าง อัลเคิล (ฉินเพ่ย) ยังเป็นตัวแทนสะท้อนให้เห็นสภาพจิตใจคนชราที่ถูกทอดทิ้ง หลาย ๆ ครั้งที่เขาต้องเที่ยวขอยืมเงินเพื่อนไปหาอีหนู คนเราเมื่อถึงช่วงบั้นปลายชีวิตก็ย่อมต้องการความรัก ความอบอุ่น ขณะที่ตัวละคร อัลเคิล เขาเลือกที่จะตักตวงความรักเข้าตัวในรูปแบบสำเร็จรูปจากอีหนู แม้ความรักที่ได้มาจะไม่จริงใจ ชวนเจ็บปวด แต่คงไม่น่าเจ็บปวดเท่าความรู้สึกของคนแก่คนหนึ่งที่ต้องมาถูกลูกหลานตัวเองทิ้ง อาเตา มองโลกแตกฉานประเด็นส่วนนี้ เพราะเธอก็คือคนแก่คนหนึ่งที่ต้องการความรักความเอ็นดูเหมือนกับที่ อัลเคิล ต้องการ แต่เธอเป็นคนแก่โชคดีที่ได้ โรเจอร์ มาเติมเต็ม อาเตา จึงเข้าใจความเจ็บปวดของ อัลเคิล ดีที่สุด เธอจึงอธิบายให้ โรเจอร์ เข้าใจถึงการเติมเต็มความต้องการในชีวิตช่วงบั้นปลายว่ามันมีคุณค่ากับ อัลเคิล ขนาดไหน





ความกตัญญูของ โรเจอร์ ที่ปฎิบัติกับ อาเตา ทั้งหมดในหนัง ผู้กำกับแอน ฮุย นำเสนอออกมาแบบเรียบง่าย พูดน้อย เน้นภาษาภาพที่เข้าใจไม่ยาก ทุกสัดส่วนก่อให้คนดูรู้สึกกลมกล่อมไปกับสายสัมพันธ์ของทั้งคู่ จนมาถึงฉากสุดท้ายเมื่อ อาเตา ต้องนอนโรงพยาบาลก่อนจะสิ้นใจ หนังเลือกที่จะให้ โรเจอร์ ระบายความในใจถึงคนที่เสมือนแม่คนสองของเขา ด้วยการพับถุงเท้าแทนการร้องไห้ ผู้กำกับแอน ฮุย เลือกจะนำเสนอฉากไคลแมกส์ของหนังให้ออกมาแหวกแนว ทำให้อารมณ์ฉากนี้ออกมาสมจริง กลมกล่อมพอดี ไม่หนักไป และก็ไม่น้อยจนไป ตอบโจทย์ความรักที่ โรเจอร์ มีให้กับ อาเตา มีน้ำหนัก ซาบซึ้ง เข้าใจได้ไม่ยาก





วงจรความรัก ความกตัญญู การตอบแทนของมนุษย์ ไม่ได้ซับซ้อน จัดการยาก เกินจะเข้าใจหรือทำไม่ได้ ขึ้นอยู่กับว่าปริมาณสัจธรรมขั้นพื้นฐานที่มนุษย์พึงมีแต่ละคนอยู่ในระดับไหน ระบบความเข้าใจ การจัดการก็ใช่ว่าจะยากอย่างที่คิด หนัง A Simple Life ได้ช่วยสำรวจคุณภาพจริยธรรมขั้นพื้นฐานในจิตใจของมนุษย์เรา รวมถึงเรื่องราวชีวิตธรรมดาที่ถูกมองข้ามอีกมากมายในสังคม ซูปเปอร์คอมพิวเตอร์ที่ โรเจอร์ นิยามยังสะท้อนเป็นแง่คิดสอนเราให้รู้จักตระหนักถึงคุณค่าของการเป็นมนุษย์สัตว์ประเสริฐ พระเจ้าไม่ได้ออกแบบวงจรชีวิตมนุษย์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ให้ซับซ้อนและจัดการยากเลย หากมนุษย์เรารู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรากันมากขึ้น แบบที่ โรเจอร์ กับ อาเตา ปฎิบัติต่อกันยามที่คนใดคนหนึ่งกำลังลำบาก เพราะอย่าลืมว่าตัวละคร โรเจอร์ ในหนังก็คือมนุษย์ มนุษย์ถือเป็นสัตว์ประเสิรฐ และพวกเราเองก็คือสัตว์ประเสริฐ...


คะแนนหนัง: 9.5 - 10




 

Create Date : 01 สิงหาคม 2555
1 comments
Last Update : 1 สิงหาคม 2555 13:56:06 น.
Counter : 3046 Pageviews.

 
 
 
 
เดี๋ยววันที่ 9 สิงหาจะไปดู นับวันรอเลยละ
 
 

โดย: แฟนlinKinPark วันที่: 5 สิงหาคม 2555 เวลา:21:59:22 น.  

Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

Chrono_Trigger
 
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




คิดถึงเชียงราย...
[Add Chrono_Trigger's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com